คำถามที่พบบ่อย (FAQs)

การรับรองการจัดการป่าไม้ (Forest Certification) คืออะไร?

การรับรองการจัดการป่าไม้ (Forest Certification) เป็นกระบวนการภาคสมัครใจที่ผ่านการตรวจสอบโดยบุคคลอิสระที่สาม (3rd-party: ผู้ตรวจประเมิน) เป็นผู้ตรวจประเมินระบบการจัดการป่าไม้ตามข้อกำหนด (มาตรฐาน”) ที่กำหนดโดยองค์กรรับรองของภาครัฐหรือภาคเอกชน โดยมีการรับรองผ่านการติดฉลากเพื่อสื่อสารไปยังผู้บริโภคว่าสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์จากสวนไม้นี้มาจากการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน

[1] ที่มา: http://www.fao.org/sustainable-forest-management/toolbox/modules/forest-certification/further-learning/en/?type=111

ที่มา หลักการและแนวคิดเรื่องการรับรองมาจากอะไร?

ทรัพยากรป่าไม้จัดเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมดสิ้น (Renewable Resources) และมนุษย์ใช้ประโยชน์จากป่าไม้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เป็นเเหล่งเชื้อเพลิง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ทั้งยังเป็นแหล่งพื้นที่ผลิตไม้เพื่อที่อยู่อาศัย เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในบ้านและอุตสาหกรรม เช่น การเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เป็นต้น สำหรับประโยชน์ทางอ้อม ได้แก่ ต้นไม้ผลิตก๊าซออกซิเจน ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ดักจับฝุ่นละออง ป้องกันการเกิดอุทกภัย ป้องกันการเกิดปัญหาการพังทลายของหน้าดิน นอกจากนี้ยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดสภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นผลพวงจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ของมนุษย์

แม้ทรัพยากรป่าไม้จะเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วไม่หมดสิ้น แต่หากมนุษย์ใช้ประโยชน์อย่างไม่เหมาะสมและไม่ยั่งยืน อาจส่งผลให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมหรือทำให้ทรัพยากรเหล่านี้สูญสิ้นไปได้ เช่นปัญหาการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งนี้ เพื่อต้องการลดปัญหาดังกล่าวและส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างยั่งยืน ทั่วโลกจึงเกิดการพัฒนากลไกที่เรียกว่าการรับรองป่าไม้ (Forest Certification) ซึ่งเริ่มต้นจากองค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมโลก (The Earth Summit) เมื่อ พ.ศ. 2535 และได้ร่วมตกลงใน การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมีข้อสรุปร่วม 3 ประการหลัก คือ

1. ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity)

2. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

3. ลดการขยายตัวของทะเลทราย (Combat Desertification)

ซึ่งได้มีกำหนดเรื่องหลักเกณฑ์การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนขึ้นมาโดยต้องมีการดำเนินการอย่างมีมาตรฐานในการนำสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ออกจากป่า พร้อมแนวความคิดเรื่องการติดเครื่องหมายหรือฉลากการรับรองสินค้าไม้ (Labeling) จากนั้นมุมมองความต้องการที่จะจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (Sustainable Forest Management) จึงเริ่มแพร่หลายไปทั่วโลก ส่งผลให้องค์กรเอกชนต่าง ๆ รวมตัวกัน ชักชวนให้ผู้บริโภค เลือกซื้อสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ที่มาจากการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ผู้ผลิตเริ่มหันมาสนใจต่อแหล่งที่มาของทรัพยากรป่าไม้มากขึ้น จึงเกิดมิติใหม่ ในวงการป่าไม้ของโลก คือ การรับรองป่าไม้ (Forest Certification) โดยประเทศผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้องได้พยายามพัฒนาการดำเนินการในการรับรองป่าไม้ของแต่ละประเทศให้เข้าสู่ระดับมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคประเทศอื่น ๆ เช่น Programme for the Endorsement of Forest Certification (PEFC) Forest Stewardship Council (FSC) Sustainable Forestry Initiative (SFI) ของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ในประเทศไทยได้ส่งเสริมและสนับสนุน ผลักดันให้เกิดการรับรองป่าไม้ (Forest Certification)
มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนเล่ม ๑ ข้อกำหนด และปรับปรุงแก้ไขในปี 2559 ในชื่อมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับสำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจ (Thailand Forest Certification Council: TFCC) ภายใต้สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและเกษตรกร สามารถนำมาตรฐานดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการรับรองป่าไม้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) และเกิดความมั่นใจในการดำเนินงานและยังช่วยรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ผ่านวนวัฒน์วิธี นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนงาน การจ้างคนในชุมชนท้องถิ่น ชนพื้นเมือง ฯ ทั้งยังทำหน้าที่เสมือนอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยภาครัฐตรวจสอบรับรองเกี่ยวกับการใช้ที่ดินอย่างถูกกฎหมาย ในระยะยาวด้วย

การรับรองการจัดการป่าไม้ (Forest Certification) มีกี่ประเภท?

การรับรองการจัดการป่าไม้ (Forest Certification) สามารถจำแนกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การรับรองการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Forest plantation Management: SFM หรือ FM) และการรับรองห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ (Chain of Custody of Forest Based Product) โดย

  • การรับรองการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Forest plantation Management: SFM หรือ FM) หมายถึง กระบวนการจัดการเพื่อรักษาและส่งเสริมสภาพความสมบูรณ์ของสวนป่าไม้เศรษฐกิจในระยะยาวและอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต หมายรวมถึงกระบวนตั้งแต่การปลูก การบำรุงรักษา การตัดแต่งกิ่ง การทำไม้ หรือทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสวนป่าแล้วส่งผลกระทบต่อพื้นที่สวนป่า ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย 
  • การรับรองห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ (Chain of Custody of Forest Based Product: CoC) หมายถึง กระบวนตั้งแต่การตรวจสอบแหล่งที่มาของไม้ก่อนนำเข้ามาผลิตในกระบวนการและการส่งมอบไม้และผลิตภัณฑ์ไปยังลูกค้าปลายทางต่อไป
หากต้องการการรับรองตามมาตรฐานกาาจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจ (มอก.14061) ควรเริ่มต้นจากอะไรต้องเริ่มต้นจากอะไร?

เพื่อให้เกิดการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนและได้ใบรับรองการจัดการป่าไม้ เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือผู้ประกอบการ ต้องมีการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการด้านเอกสารและความพร้อมด้านพื้นที่ที่จะขอการรับรอง โดยสามารถเริ่มการดำเนินการได้ตั้งแต่

  • การจัดประชุมหารือเพื่อหาแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งการตัดสินใจ โดยสามารถพิจารณาปัจจัยความคุ้มค่าในการดำเนินงาน ผลตอบแทนด้านต้นทุน บริษัทรับซื้อปลายทาง และ
    ผลกระทบอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมและคนในชุมชนระยะยาว เป็นต้น
  • ควรแต่งตั้งตัวแทนเพื่อกำหนดหน้าที่ผู้รับผิดชอบและเพื่อให้เกิดความสะดวกและคล่องตัวในการดำเนินงาน รวมทั้งควรกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ
  • สามารติดต่อที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรงเพื่อขอคำแนะนำ กรณีต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมใด ๆ ติดต่อสำนักงานการรับรองการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (Thailand Forest Certification Council: TFCC) สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 02-345-1000 หรือ 02-345-1242 เพื่อช่วยประสานงานไปยังผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาได้
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับการรับรองการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Forest plantation Management: SFM หรือ FM)

สามารถแบ่งค่าใช้จ่ายออกได้เป็น 3 หมวดหลักได้แก่ 

1. หมวดค่าใช้จ่ายในการเตรียมการ เช่น

– ค่าการเตรียมพื้นที่

– ค่าเตรียมเอกสาร

– ค่าจัดทำแผนที่

– ค่าสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ (หากมี)

– ค่าจ้างวิทยากรอบรมหรือค่าส่งเจ้าหน้าไปอบรมเพื่อให้สอดคล้องตามข้อกำหนด มอก.14061

– ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ

-ค่าการประชุมต่าง ๆ เช่น Stakeholder consultation

ฯลฯ

2. หมวดค่าจ้างที่ปรึกษา

ราคาจะค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ จำนวนคนและความซับซ้อนในการดำเนินงาน

หมายเหตุ

*หมวดค่าที่ปรึกษาเป็นภาคสมัครใจ แต่ส่วนใหญ่จะจัดจ้างเฉพาะในปีแรก

**ค่าเดินทาง และค่าที่พัก อาจไม่รวมอยู่ในค่าจ้างที่ปรึกษา (ควรอ่านรายละเอียดและเงื่อนไขก่อนการดำเนินการ)

3. หมวดค่าตรวจประเมินและค่าใบรับรอง

ควรติดต่อหน่วยรับรอง (CB) เพื่อสอบถามราคาที่ชัดเจน โดยสามารถดูรายละเอียดหน่วยรับรอง (CB) ได้ที่ https://tfcc.fti.or.th/?page_id=508